ทำความรู้จัก ‘Omicron’ เพื่อพร้อมรับมือโควิดพันธุ์ใหม่จู่โจมไทย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ล่าสุด B.1.1.529 หรือโอไมครอน (Omicron) เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ถูกรายงานว่าพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดแล้วในหลายประเทศรวมถึงมีการติดเชื้อนี้ในไทย
มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร?
WHO เผยว่า Omicron มีการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่าการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่งเกิดขึ้นที่โปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ จึงเกิดความวิตกว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ไวรัสมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
นอกจากนี้ข้อมูลจาก Emma Hodcraft นักระบาดวิทยาจาก University of Bern ระบุว่า นอกเหนือจากการกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลให้เชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ ยังมีการกลายพันธุ์อีก 3 ตำแหน่งที่อาจส่งผลให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเดิมก็เป็นได้
‘โอไมครอน’ ส่งผลให้มีอาการรุนแรงเพียงใด?
จากเบื้องต้นทราบว่าโอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไวรัสดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าโควิด 19 สายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ขณะที่ ดร. แองเจลีค คูตซี (Angelique Coetzee) ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ได้เปิดเผยว่า ผู้ป่วยหลายสิบรายที่พบในสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงอาการเพียงเล็กน้อย อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอแห้ง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และฟื้นตัวเต็มที่โดยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังไม่พบผู้ป่วยคนใดสูญเสียกลิ่นหรือรับรส ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตา รวมถึงไม่พบว่าผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
วัคซีนโควิดในปัจจุบันสยบโอไมครอนได้หรือเปล่า?
เนื่องจาก Omicron มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งจึงทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนโควิด 19 ที่พัฒนามาเพื่อต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่พบครั้งแรกในอู่ฮั่นจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อต้องรับมือกับโอไมครอน
เรื่องนี้องค์การอนามัยโลกกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปในตอนนี้ และจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาพฤติกรรมของไวรัสตลอดจนประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนหลายรายได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว โดย BioNTech ผู้พัฒนาวัคซีนจากเยอรมนีกล่าวว่าทางบริษัททราบถึงความกังวลที่เกิดขึ้น และจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตัดสินใจว่าจะต้องพัฒนาวัคซีนกันอีกครั้งหรือไม่
ด้าน AstraZeneca แถลงว่ากำลังทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนนี้และผลกระทบต่อวัคซีน และกำลังทดสอบแอนติบอดี AZD7442 กับสายพันธุ์ใหม่นี้และหวังว่าแอนติบอดีจะยังคงรักษาประสิทธิภาพไว้ได้
ขณะที่ Moderna คาดว่าจะทราบเกี่ยวกับความสามารถของวัคซีนในปัจจุบันเกี่ยวกับให้การต้านไวรัสโอไมครอนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหากจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนใหม่คาดว่าจะพร้อมในต้นปี 2022
สำหรับ Novavax กล่าวว่าบริษัทได้เริ่มทำงานเพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด 19 รุ่นหนึ่งซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ และจะพร้อมสำหรับการทดสอบและการผลิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
อาจมีระบาดระลอก 4 คาดวัคซีน ‘โอไมครอน’ เร็วสุดผลิตได้กลางปีหน้า
สำหรับเรื่องนี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจ รพ.วิชัยยุทธ ให้ความรู้ว่า ปัจจุบันผู้คนมีความวิตกว่า อาจเป็นการระบาดในระลอกที่ 4 ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเชื้อไวรัสนี้อยู่กับเรามาจะ 2 ปีแล้ว และจะยังไม่หายไปไหน กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพื่อเอาชนะคน
สิ่งที่มนุษยชาติจะต้องทำก็คือ การต่อสู้กับไวรัส หาวัคซีนที่ทรงประสิทธิภาพมาต่อสู้ ซึ่งการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ๆ จะต้องผลิตไว้เพื่อโควิด หลายๆ สายพันธุ์ เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มี 4 แบบ 4 สายพันธุ์
เชื่อว่าวัคซีนจะสามารถผลิตออกมาได้ภายในกลางปีหน้า เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์ใหม่ สิ่งที่ยากคือการเริ่มต้นครั้งแรก ทั่วโลกเจอเปลี่ยนสายพันธุ์ก็จริงแต่ไม่ได้เริ่มต้นใหม่ ไม่จำเป็นต้องทดลองกับคน ใช้ยาหลอก หรือยาจริงแล้ว
ประเทศไทยเตรียมการป้องกันอย่างไร
ณ ปัจจุบันไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว โดยกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่านับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมาจากแอฟริกาตอนใต้ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต ทั้งหมดตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 และขณะนี้ได้สั่งให้ผู้ที่มาจากประเทศเหล่านี้กักตัว 14 วัน
นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้แจ้งสายการบินห้ามผู้โดยสารจาก 8 ประเทศเข้าไทย ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามีเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงไทยระหว่างวันที่ 28 – 30 พ.ย. 64 จะต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วันทันที
ข้อแนะนำระดับบุคคลจาก WHO
สิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่บุคคลสามารถทำได้เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด 19 คือการรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น สวมหน้ากากให้ถูกต้องและเหมาะสม เปิดหน้าต่างเพื่อให้เกิดการระบายอากาศ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดีหรือมีผู้คนพลุกพล่าน ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไอหรือจามใส่ข้อพับแขนด้านในหรือกระดาษทิชชู และรับการฉีดวัคซีนเมื่อถึงคิวของตนเอง
.
.
ติดตาม Life Elevated ได้ที่
Website: www.lifeelevated.club/
Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ
Twitter: @lifeelevatedCLB
Instagram: @lifeelevatedclub
Line OA: @lifeelevatedclub
Blockdit: Lifeelevatedclub
Youtube: Life Elevated Club